‘จีน’ ยึดอุตสาหกรรมเหล็กไทย ‘ซินเคอหยวน’ ลงทุนใหญ่ผลิต 12 ล้านตัน/ปี

12 สิงหาคม 2567
‘จีน’ ยึดอุตสาหกรรมเหล็กไทย ‘ซินเคอหยวน’ ลงทุนใหญ่ผลิต 12 ล้านตัน/ปี
“เหล็กจีน” ยึดตลาดเไทย “ซินเคอหยวน” ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต 12 ล้านตัน ส.อ.ท.ร้องกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการตั้งโรงงาน ชี้โรงงานที่มีเพียงพอกับดีมานด์ในประเทศ 16 ล้านตัน ห่วงนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปพุ่ง เลี่ยงมาตรฐาน มอก. เผยปี 66 นำเข้าจากจีนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมเหล็กไทยได้รับผลกระทบจากเหล็กจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการส่งออกกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนออกนอกประเทศ และอาเซียนเป็นแหล่งระบายสินค้าเหล็กของจีน 

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยได้ยื่นให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อสกัดสินค้าเหล็กจากจีน แต่ผู้ส่งออกจีนใช้วิธีการปรับคุณลักษณะสินค้าเหล็กเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรและทำให้ไม่ถูกเก็บภาษี และการนำเข้าเหล็กจากจีนในปริมาณสูงส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กไทยอยู่ในระดับต่ำ

ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กไทยบางรายมีแผนหยุดการผลิตหลังจากได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้า โดยบริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด สาขาระยอง ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และอุตสาหกรรมเหล็กจากนอกประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิผลิตเหล็กในประเทศ 

รวมทั้งที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของบริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด ทำให้ยอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องจึงต้องปรับแผนการเงินและกำหนดมาตรการเพื่อลผลกระทบด้วยการหยุดการประกอบกิจการบางส่วนชั่วคราวทั้งโรงงานและสำนักงาน ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ถึง 13 ก.ย.2567 โดยจ่ายค่าจ้าง 75% สำหรับวันที่ไม่ได้มาปฏิบัติงาน และจ่ายค่าจ้าง 100% สำหรับวันที่มาปฏิบัติงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า อัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยต่ำสุดรอบ 7 ปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 29.3% เท่านั้น โดยปี 2566 มีอัตรการใช้กำลังการผลิตเพียง 31.2% ส่วนปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 33.4%

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังเผชิญสถานการณ์บริษัทเหล็กจีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.ได้รวบรวมข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีบริษัทจีนเข้ามาลงทุนขนาดกำลังการผลิตรวม 12.42 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปี 2567 อยู่ที่ 16 ล้านตัน

สำหรับการลงทุนของบริษัทจีนดังกล่าวมาจาก 2 บริษัท ดังนี้

1.บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 23 ก.พ.2554 ทุนจดทะเบียน 1,530 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมีโรงงานที่กำลังดำเนินการ กำลังการผลิต 12.09 ล้านตันตัอปี ประกอบด้วย 

  • โรงงานเหล็กลวด กำลังการผลิต 2.28 ล้านตันต่อปี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, โรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อน กำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, โรงงานเหล็กแผ่นรีดเย็น กำลังการผลิต 0.45 ล้านตันต่อปี ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว 
  • โรงงานเหล็กเคลือบ กำลังการผลิต 2.03 ล้านตันต่อปี ได้รับ BOI แล้ว, โรงงานเหล็กท่อ กำลังการผลิต 1.7 ล้านตันต่อปี ได้รับ BOI แล้ว และโรงงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Welded H, I Beam) กำลังการผลิต 0.03 ล้านตัน อยู่ระหว่างขออนุมัติ BOI

2. บริษัทหย่งจิน เมทัล เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 7 มิ.ย.2565 ทุนจดทะเบียน 401 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี โดยมีโรงงานเหล็กกล้าไร้สนิมที่กำลังดำเนินการ กำลังการผลิต 0.332 ล้านตันตันปี ประกอบด้วยโรงงานระยะที่ 1 กำลังการผลิต 0.012 ล้านตันต่อปี และโรงงานระยะที่ 2 กำลังการผลิต 0.32 ล้านตันต่อปี โดยผ่านการอนุมัติ BOI แล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

ส.อ.ท.ร้องควบคุมตั้งโรงงานเหล็ก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า กำลังการผลิตเหล็กของผู้ประกอบการไทยไทยเพียงพอต่อความต้องการใช้เหล็กในประเทศ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงควรมีการควบคุมการตั้งโรงงานผลิตเหล็ก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจีนมีแนวโน้มลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมาจากนโยบายการลดมลพิษในจีน หรือจากกรณีที่จีนถูกหลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการทางการค้า ดังนั้น จึงต้องหาแหล่งลงทุนในการผลิตสินค้าเหล็กใหม่

“หากมีลงทุนและก่อสร้างโรงงานเหล็กจีนในไทยสำเร็จ จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตเดิมในประเทศ โดยเฉพาะอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เดิมต่ำมากในปัจจุบันจะลดต่ำลงไปอีก” นายเกรียงไกร กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า กำลังการผลิตโรงงานใหม่ของบริษัทซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด 12.09 ล้านตัน ถือว่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน กำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี สูงกว่าบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ที่มีกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนชั้น 4 ล้านตันต่อปี

เพิ่ม มอก.คุมมาตรฐานสินค้าเหล็ก

หลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการจำหน่ายเหล็กเคลือบไม่ได้มาตรฐานสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอย่างมาก โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ที่คาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในเดือน พ.ค.2568  ได้แก่ 

  • 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …
  • 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …

เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเลี่ยง มอก.

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัญหาการนำเข้าสินค้าเหล็กไม่ได้มาตรฐานพบในเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงความปลอดภัยเนื่องจากไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยส่วนประกอบหลักของสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูปมาจากสินค้าที่ต้องมี มอก.บังคับ เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กรางน้ำ

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยปัจจุบันนำเข้าสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งข้อมูลปี 2566 มีปริมาณนำเข้า 426,340 ตัน มูลค่า 21,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูงถึง 92% มูลค่า 18,000 ล้านบาท

เหล็ก-วัสดุก่อสร้างด้อยคุณภาพอันดับ 1

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ตรวจเข้มสินค้าไม่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยช่วงเดือน ต.ค.2566 ถึงปัจจุบันเฉลี่ย 10 เดือน พบสินค้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 344 ล้านบาท โดยมากกว่าปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 203 ล้านบาท โดยกลุ่มที่พบมากสุด 4 อันดับแรก คือ 

1. เหล็กและวัสดุก่อสร้างกว่า 126 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37%

2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 111 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33%

3.ยางล้อรถยนต์ 86 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% และ

4. สินค้าโภคภัณฑ์ 17 ล้านบาท คิดเป็น 3%

ทั้งนี้ สินค้าไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นจึงอยากให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบมากขึ้นทั้งกำลังคนและอุปกรณ์การตรวจสอบมาก โดยปัจจุบันตรวจสอบสัดส่วน 10-20% อาจตรวจสอบมากขึ้น


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.